ระบบการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินการภายใต้สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก อธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยเป็นเลขานุการและหัวหน้าส่วนแผนงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทำหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยในการให้แนวทาง ควบคุมกำกับดูแลระบบการบริหารความเสี่ยงทั้งระบบ และมีการทำงานเชื่อมโยงกับคณะกรรมการของสภามหาวิทยาลัย (Standing Committee) ทุกคณะในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงรายงานต่อสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในประเด็นเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงเป็นระยะตามความจำเป็นและเหมาะสม

เพื่อสร้างเสริมความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของงานด้านการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน (Ownership of Risk Management Responsibilities) ให้เกิดกับผู้บริหารระดับต่างๆ มหาวิทยาลัยพึงมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อน (Steering Committee) ให้มหาวิทยาลัยมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีโดยมีอธิการบดีในฐานะผู้บริหารสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีประธานเจ้าหน้าที่การบริหารความเสี่ยง (Chief Risk Officer: CRO) (ผู้บริหารตำแหน่งรองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย) เป็นฝ่ายเลขานุการรับผิดชอบงานบริหารความเสี่ยงโดยตรง ทั้งนี้ ในการทำงานของประธานเจ้าหน้าที่การบริหารความเสี่ยง (CRO) ให้มีหน่วยบริหารความเสี่ยงเป็นหน่วยงานกลางระดับดำเนินการ โดยที่จะมีหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่การบริหารความเสี่ยงระดับหน่วยงาน (Risk Officer: RO) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตรงในการดำเนินงานบริหารความเสี่ยงของแต่ละหน่วยงานย่อยทั้งในระดับสำนักงานอธิการบดี ศูนย์/สถาบัน สำนักวิชา และโครงการ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลให้ความสนับสนุน และประสานการทำงานกับประธานเจ้าหน้าที่การบริหารความเสี่ยง (CRO) ในฐานะตัวแทนของหน่วยงานย่อยที่ตนสังกัด อย่างไรก็ตาม กระบวนการการทำงานและข้อมูลที่รวบรวมโดยหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่การบริหารความเสี่ยงระดับหน่วยงาน (RO) จะต้องผ่านความเห็นชอบจาก หัวหน้าหน่วยงาน นอกจากนี้ หากหน่วยงานใดมีคณะกรรมการประจำหน่วยงาน พึงมีการผ่านเรื่องไปยังคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อพิจารณาด้วยเพื่อความคล่องตัว และ ประสิทธิภาพ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับสูงของฝ่ายบริหาร ควรประกอบด้วยผู้มีความรู้และทักษะเชิงบริหารเกี่ยวกับงานด้านการบริหารความเสี่ยงโดยจำนวนกรรมการในคณะไม่จำเป็นต้องมาก

ทั้งนี้ ในระบบการบริหารความเสี่ยง หน่วยตรวจสอบภายในพึงมีหน้าที่ในการสอบทาน ตรวจสอบระบบการบริหารความเสี่ยง ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมถึงการประเมินเหตุการณ์อันเป็นความเสี่ยงของมหาวิทยาลัย การระบุระดับความเสี่ยงของเหตุการณ์ให้ตรงความเป็นจริง และเป็นปัจจุบัน ความเหมาะสมของมาตรการที่มหาวิทยาลัยเลือกใช้เพื่อบริหารจัดการลดความเสี่ยงต่าง ๆ และให้ข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง ซึ่งหน่วยตรวจสอบภายในจะทำงานร่วมกับ คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานฯ  และคณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด

จากโครงสร้างอำนาจหน้าที่ ในระบบการบริหารความเสี่ยง ที่ซึ่งได้อธิบายมาข้างต้นสามารถอธิบายเป็นภาพผังอำนาจหน้าที่ได้ดังต่อไปนี้

กลับหน้าหลัก